Translate

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ระบบสารสนเทศทางการเงิน

ระบบสารสนเทศทางการเงิน

               ระบบสารสนเทศทางการเงิน  หมายถึง  ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนงานของ
นักบริหารธุรกิจ  ในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน  รวมทั้งการจัดสรรและควบคุมทรัพยากรทางการเงินของธุรกิจ  โดยการพัฒนาระบบย่อยในส่วนของการจัดการเงินสดและการจัดการเงินลงทุน  การงบประมาณลงทุน  การพยากรณ์ทางการเงิน  ตลอดจนการวางแผนทางการเงิน
               ระบบสารสนเทศทางการเงิน  หมายถึง  ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนการจัดการทรัพย์สินด้านการเงิน  เช่น  เงินสด  หุ้นสามัญ  หุ้นกู้  และการลงทุนอื่น ๆ  เพื่อให้ได้รับผลตอบสูงสุด  รวมทั้งการจัดการด้านการประเมินสินทรัพย์ให้เป็นทุนของธุรกิจ  เพื่อให้ได้สารสนเทศซึ่งใช้สำหรับการตัดสินใจทางการเงินที่มุ่งเน้นถึงผลตอบแทนการลงทุนที่ดีที่สุด  ซึ่งรวมถึง 3 ระบบย่อย  ดังนี้
               1.  ระบบในระดับกลยุทธ์  โดยมุ่งที่จะพัฒนาเป้าหมายการลงทุน  และใช้วิธีพยากรณ์ผลการดำเนินงาน  หรือผลกำไรในระยะยาว
                2.  ระบบในระดับบริหาร  หรือกลวิธี  โดยใช้ระบบสารสนเทศช่วยผู้บริหารด้านการติดตามดูแล  ควบคุมการจัดหาและการใช้ทรัพยากรของธุรกิจ
               3.  ระบบในระดับปฏิบัติการโดยมุ่งเน้นการติดตามรอยกระแสเงินทุนในบริษัทผ่านธุรกรรมต่าง ๆ เช่น  การจ่ายเช็ค  การจ่ายชำระค่าซื้อสินค้า  การซื้อขายหลักทรัพย์  ตลอดจนการรับชำระเงิน
               ระบบสารสนเทศทางการเงิน  หมายถึง  ระบบที่มีการนำเสนอสารสนเทศทางการเงินให้แก่ผู้บริหารในองค์กร  ตลอดจนกลุ่มบุคคลทั่วไปภายนอกองค์การที่จำเป็นจำเป็นต้องตัดสินใจรายวันทางการเงิน  การนำเสนอสารสนเทศด้านธุรกรรมทางการเงินมักจะอยู่ในรูปแบบที่กระชับ  มีการใช้ระบบฐานข้อมูลอย่างง่าย  ตลอดจนระบบออกรายงานทางการเงินที่ยืดหยุ่น  เพื่อสกัดสารสนเทศจากระบบและออกรายงานการค้าหุ้นอิเล็กทรอนิกส์  อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันกลฉ้อฉล  ในตลาดหุ้นซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน  โดยระบบมีจุดมุ่งหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดังนี้
               1.  รวบรวมสารสนเทศทางการเงินและการปฏิบัติงาน  จากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล  รวมทั้งแหล่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน
               2. ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย  ผ่านตัวกลาง  คือ  เว็บเพจบนอินทราเน็ต
               3.  เปิดโอกาสให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลระยะสั้นตลอดเวลา
               4.  วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินได้หลายมิติ  แยกตามช่วงเวลา  ภูมิศาสตร์  ผลิตภัณฑ์โรงงาน  และลูกค้า
               5.  วิเคราะห์กิจกรรมทางการเงินทั้งในอดีตและปัจจุบัน
               6.  ติดตามและควบคุมการใช้เงินทุนตลอดระยะเวลาการดำเนินการ
               จะเห็นได้ว่าในแต่ละความหมายของระบบสารสนเทศทางการเงิน  จะมุ่งเน้นการนำเสนอสารสนเทศทางการเงิน  เพื่อการตัดสินใจในองค์กรธุรกิจทั่วไปรวมทั้งหน่วยงานของรัฐ  เช่น  หลักทรัพย์  สถาบันการเงิน  โดยจำแนกประเภทสารสนเทศออกตามระดับการจัดการเป็นเชิงกลยุทธ์  เชิงกลวิธี  และเชิงปฏิบัติการ  และยังมีการ  และยังมีการใช้ระบบประยุกต์ด้านการเงินสำหรับงานเฉพาะด้าน  อาทิเช่น  การวางแผนทางการเงิน  การจัดการทางการเงิน  การควบคุมและตรวจสอบทางการเงิน

การจัดการทางการเงิน
               การเงิน คือ หน้าที่งานหนึ่งของธุรกิจ  ซึ่งมีส่วนผลักดันให้การดำเนินงานด้านอื่น ๆ  เช่น  การผลิต  การตลาด  และการบริหารทรัพยากรมนุษย์  เป็นไปได้อย่างราบรื่น  และมีประสิทธิภาพซึ่งเป้าหมายสำคัญทางการเงิน  คือการเพิ่มพูนความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น  ที่พิจารณาจากอัตราการจ่ายเงินปันผลและมูลค่าหุ้นสามัญในตลาด
 
1.  แนวคิดและความหมาย
               การจัดการทางการเงิน  หมายถึง  กระบวนการซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาไว้  และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ตลอดจนการตัดสินใจทางการเงิน  เพื่อสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ธุรกิจและผู้ถือหุ้น 
                จะเห็นได้ว่าในระบบการเงิน  ซึ่งมุ่งเน้นถึงการจัดสรรเงินที่มีอยู่ในธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้สอยหรือการบริโภคเงิน  ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในระบบเพื่อจัดหาเงินทุนของธุรกิจและการลงทุนของนักลงทุน  จึงต้องคำนึงถึงอุปสงค์ในเงินทุน (
Demand for Capital)  และอุปาทานในเงินทุน (Supply for Capital) ด้วย

2.  ขอบเขตงานทางการเงิน
               ขอบเขตงานทางการเงินออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
               2.1  ตลาดการเงิน  จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินหรือแหล่งจัดหาเงินทุนอื่น ๆ ได้แก่หลักทรัพย์และตราสารทางการเงินของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  โดยจำแนกเป็น
                2.1.1  ตลาดเงิน  หมายถึง  ตลาดที่จำหน่ายหลักทรัพย์  รวมทั้งตราสารทางการเงินที่อายุไม่เกิน 1 ปี
           2.1.2  ตลาดทุน  หมายถึง  ตลาดที่จำหน่ายหลักทรัพย์  รวมทั้งตราสารทางการเงินที่มีอายุมากกว่า 1 ปี โดยจำแนกเป็น

ตลาดแรก  คือ  ตลาดที่จำหน่ายหลักทรัพย์แก่ผู้ซื้อในครั้งแรก
ตลาดรอง  คือ  ตลาดที่จำหน่ายหลักทรัพย์จากผู้ซื้อครั้งแรกไปสู่ผู้ซื้อในครั้งต่อ ๆ ไป
               2.2  การลงทุน  เป็นการตัดสินใจลงทุนโดยคำนึงถึงการใช้เงินทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การ  ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ  การขาย  หรือ  การถือครองสินทรัพย์  อาทิเช่น  การลงทุนซื้อเครื่องจักใหม่  การสร้างคลังสินค้าเพิ่ม  การฝากเงินสดในธนาคาร  เป็นต้น
               2.3  การเงินธุรกิจ  เป็นการจัดการทางการเงินภายในองค์การ  เช่น การให้สินเชื่อทางการค้าการจัดการเงินสด  การจัดหาเงินทุน  รวมทั้งการจัดการโครงสร้างทางการเงิน

3.  หน้าที่ทางการเงิน  จากขอบเขตทางการเงินข้างต้น  จะนำไปสู่การจำแนกหน้าที่ทางการเงิน  ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารเงินของธุรกิจจะต้องตัดสินใจทางการเงินร่วมกับฝ่ายงานต่าง ๆ เพื่อที่จะสนองตอบภารกิจสำคัญ 4 ประการดังนี้
                3.1  การพยากรณ์และการวางแผน
                3.2  การจัดหาเงินทุน
               3.3  การจัดการลงทุน
                3.4  การจัดการเงินทุน
                               - การจัดการสภาพคล่อง
                                - การจัดการเติบโต
                                - การจัดการความเสี่ยง

4.  เป้าหมายทางการเงิน
               4.1  กำไรสูงสุด  เป้าหมายนี้มักจะเน้นถึงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงช่วงเวลาการวัดผลกำไรของบริษัทแต่อย่างใด  ซึ่งต้องมีการตั้งเป้าหมายที่แน่นอน  และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วย  แต่กำไรสูงสุดก็ยังคงและเลยต่อปัจจัยสำคัญ 3 ประการ  คือ  ความเสี่ยงของการลงทุน  ระยะเวลาที่ได้รับผลตอบแทนการลงทุน  และต้นทุนเงินทุนที่ได้จากผู้ถือหุ้นและเจ้าของกิจการ  ทำให้การวัดเป้าหมายเป็นไปอย่างไม่ดีเท่าที่ควร
               4.2  ความมั่งคั่งสูงสุด  หากธุรกิจใดมีการปรับปรุงกำไรสูงสุดให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงานทางธุรกิจโดยมุ่งเน้นถึงมูลค่าตลาดหุ้นสามัญที่สูงขึ้น  รวมทั้งอัตราเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย  จึงจะถือว่าธุรกิจนั้นเกิดความมั่นคั่งสูงสุด  ซึ่งจะต้องอาศัยการตัดสินใจทางการเงินที่ถูกต้อง  ตลอดจนมีการสร้างพื้นฐานการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
               นอกจากนี้  เป้าหมายทางการเงินทั้ง 2 ประการข้างต้นแล้ว  องค์การควรจะตั้งเป้าหมายเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมด้วย  เช่น  ไม่ควรทำการปั่นหุ้นเพื่อสร้างราคาหุ้นของบริษัทให้สูงขึ้น  ซึ่งถือเป็นการหลอดลวงนักลงทุนซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไร

5.  การตัดสินใจทางการเงิน

     สำหรับการตัดสินใจทางการเงินที่สำคัญของธุรกิจ  โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งสูงสุดแก้ผู้ถือหุ้นของบริษัท  เคียวน์  และคนอื่น ๆ ได้จำแนกประเภทของการตัดสินใจทางการเงินออกเป็น 3 ประการคือ
               5.1  การตัดสินใจด้านการลงทุน  ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด  โดยเริ่มต้นจากการกำหนดทรัพย์สินที่บริษัทจำเป็นต้องใช้  และจำนวนเงินลงทุนในทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งจะบ่งบอกถึงขนาดของบริษัท  หลังจากนั้นจึงจำแนกส่วนประกอบของทรัพย์สินที่จำเป็นต้องมี  เช่น  จำนวนเงินสดในมือ  คงเหลือ  จำนวนสินค้าคงเหลือ  การลดทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น  รายการยกเลิกเงินลงทุน  หรือการทดแทนสินทรัพย์เดิมด้วยสินทรัพย์ใหม่
               5.2  การตัดสินใจด้านการจัดหาเงินทุน  ในการตัดสินใจเรื่องนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงสิ่งต่าง ๆ
               1. ส่วนผสมของเงินทุนที่จำเป็นต้องมีการจัดหาไว้ใช้จ่ายภายในกิจการ
                2.  แหล่งเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
               3.  สัดส่วนระหว่างหนี้สินและทุนที่เหมาะสม
                4.  ประเภทของการจัดหาเงินทุน 2 ประเภท  คือ  การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน  หรือออกหลักทรัพย์ประเภททุนเพื่อจำหน่าย
               5.  ต้นทุนของเงินทุนแต่ละประเภท
               5.3  การตัดสินใจด้านนโยบายเงินปันผล  เป็นการตัดสินใจถึงจำนวนเงินที่จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท  โดยมีการกำหนดอัตราการจ่ายเงินปันผลขึ้นที่สามารถใช้เป็นตัวกำหนดกำไรสะสมที่บริษัทยังคงเหลืออยู่หลังจากจ่ายเงินปันผลเสร็จสิ้นแล้ว  และยังใช้อัตราการจ่ายเงินปันผล  เป็นตัวประเมินเป้าหมายด้านการเพิ่มพูนความมั่นคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย  โดยมีการประเมินจากการที่บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง  แสดงได้ว่า  บริษัทมีความสามารถสร้างความมั่นคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น  เนื่องจากผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่สูงนั่นเอง
               อนึ่งการตัดสินใจทางการเงินทั้ง 3 ประการข้างต้น  ควรมีความสอดคล้องและเหมาะสมกัน  จึงก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อบริษัทตามความต้องการ

สารสนเทศทางการเงิน
               สารสนเทศทางการเงินนับเป็นส่วนหนึ่งของสารสนเทศทางธุรกิจ  ถือเป็นผลลัพธ์ของระบบสารสนเทศทางการเงิน  ธุรกิจส่วนใหญ่  จะมีการใช้สารสนเทศทางการเงินทั้งในแบบของเอกสาร  รายงานเพื่อการปฏิบัติงาน  และรายงานเพื่อการจัดการ  โดยกำหนดรูปแบบรายงานตามความต้องการของผู้ใช้รายงาน
                ในส่วนสารสนเทศทางการเงิน  ได้จัดแบ่งหัวข้อย่อยเป็น 2 หัวข้อ  คือ  แนวคิดและความหมายและการจำแนกประเภท  ซึ่งมีรายละเอียด  ดังนี้

1. แนวคิดและความหมาย  สารสนเทศทางการเงิน  หมายถึง  สารสนเทศที่ได้จากการประมวลผลของระบบสารสนเทศทางการเงิน  ซึ่งจะต้องอาศัยข้อมูลและสารสนเทศทั้งจากภายในและภายนอกองค์การ  เช่น  การรับ  และจ่ายเงินสดภายในกิจการ  การจัดหาเงินทุน  การลงทุนในสินทรัพย์  ตลอดจนสารสนเทศด้านอัตราดอกเบี้ยอัตราแลกเปลี่ยน  และนโยบายทางการเงินของรัฐบาล  โดยใช้สารสนเทศเหล่านี้สนับสนุนกิจกรรมทางการเงิน  ทั้งในส่วนของการวางแผนทางการเงิน  การจัดการและการวิเคราะห์ทางการเงิน  ตลอดจนการควบคุมและตรวจสอบทางการเงิน

2. การจำแนกประเภท
               สารสนเทศทางการเงิน  สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท  ดังนี้
2.1  สารสนเทศเชิงปฏิบัติการ  คือ  สารสนเทศที่ได้รับจากการปฏิบัติงานด้านการรับและจ่ายเงินสด  การจัดหาและใช้เงินทุน  ตลอดจนการลงทุนในสินทรัพย์
      1.  สารสนเทศด้านกระแสเงินสด  คือ  ในส่วนนี้  จะรวมถึงกระแสเงินสดรับ  กระแสเงินสดจ่าย  ซึ่งจะบ่งบอกถึงแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินทุน  รวมทั้งยอดคงเหลือของเงินสดในมือ  โดยนำเสนอในรูปแบบงบกระแสเงินสด  และมีการนำสารสนเทศนี้ไปใช้สำหรับกิจกรรมทางการเงินอื่น ๆ อาทิเช่น  การพยากรณ์ทางการเงิน  การจัดหาเงินทุน  การจัดการลงทุน  ตลอดจนการควบคุมทางการเงิน
      2.  สารสนเทศด้านเงินทุน  คือ  สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดหารเงินทุนไว้ใช้จ่ายในกิจการ  ตลอดจนการใช้เงินทุนเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยใช้สารสนเทศจากแหล่งข้อมูลภายนอกกิจการประกอบด้วย  เช่น  สารสนเทศด้านแหล่งเงินทุน  ต้นทุนเงินทุนร่วมกับสารสนเทศภายในกิจการ เช่น สารสนเทศด้านพยากรณ์ยอดขาย  และงบประมาณเงินสด  สารสนเทศด้านโครงสร้างเงินทุน  และงบประมาณลงทุน
      3.  สารสนเทศด้านการลงทุน  คือ  สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว  ตลอดจนการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมงบประมาณด้านการลงทุนในสินทรัพย์  ซึ่งต้องใช้ข้อมูลจากสารสนเทศด้านเงินทุนและงบประมาณลงทุนร่วมกับสารสนเทศที่ได้จากผู้จำหน่ายสินทรัพย์  หรือหลักทรัพย์ที่ต้องการลงทุน

2.2  สารสนเทศเชิงบริหาร  คือ  สารสนเทศที่ใช้สนับสนุนงานการบริหารและจัดการทางการเงิน
      1.  สารสนเทศด้านพยากรณ์ทางการเงิน  คือ  สารสนเทศที่ได้จาการคาดคะเนเหตุการณ์ทางการเงินในอนาคต  ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การโดยจะมีการพยากรณ์เฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์  และหนี้สินเท่านั้น  ไม่รวมถึงรายการที่เกี่ยวข้องกับส่วนของเจ้าของ  สารสนเทศที่เป็นผลลัพธ์จะถูกนำมาใช้จัดทำงบประมาณเงินสด  งบประมาณลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงินทุนและการลงทุนในสินทรัพย์
      2.  สารสนเทศด้านงบประมาณเงินสด  คือ  สารสนเทศที่ได้จากการนำข้อมูลกระแสเงินสดในอดีต  มาจัดทำแผนงบประมาณเงินสด  ที่เกี่ยวกับรายได้และค่าใช้จ่ายในอนาคต  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมการใช้จ่ายเงินสดของธุรกิจ
      3.  สารสนเทศด้านงบประมาณลงทุน  คือ  สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับแผนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภททุนภายใต้โครงการต่าง ๆ โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดรับและจ่ายโครงการลงทุนในอนาคต  มีการประเมินโครงการลงทุนแต่ละโครงการ  และการตัดสินใจเลือกโครงการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด  อีกทั้งมีการควบคุมการใช้จ่ายเงินภายใต้การดำเนินโครงการให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้
      4.  สารสนเทศด้านวิเคราะห์ทางการเงิน  คือ  สารสนเทศที่ใช้สำหรับสนับสนุนหน้าที่งานด้านต่าง ๆ ทางการเงิน  โดยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ เช่น  การวิเคราะห์ความเสี่ยง  การวิเคราะห์กำไร  และการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
      5.  สารสนเทศด้านควบคุมทางการเงิน  คือ  สารสนเทศที่ใช้สนับสนุนงานด้านการควบคุมงบประมาณ  การตรวจสอบทางการเงิน  และการบริหารผลการดำเนินงานทางธุรกิจ  เพื่อให้แน่ใจว่าองค์การมีการจัดการทางการเงินที่ดี

2.3  สารสนเทศภายนอกองค์การ  คือ  สารสนเทศที่ได้จากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลจากสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ  จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
      1.  สารสนเทศจากตลาดการเงิน  คือ  สารสนเทศที่ได้จากตลาดเงินและตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินต่าง ๆ เช่น แหล่งเงินทุน  ต้นทุนของเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ อัตราดอกเบี้ย  อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ


      2.  สารสนเทศด้านนโยบายของรัฐ
  คือ  สารสนเทศที่หน่วยงานของรัฐบัญญัติขึ้นใช้เพื่อควบคุมสภาวการณ์ทางการเงินภายในประเทศ  รวมทั้งบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดทางการเงิน  เช่นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

กระบวนการทางธุรกิจของระบบสารสนเทศ
ในส่วนกระบวนการทางธุรกิจของระบบสารสนเทศทางการเงิน  ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลจากความคิดและทฤษฎีทางการเงินรวมทั้งศึกษาจากตำราต่าง ๆ และจำแนกระบบย่อยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมวลผลสารสนเทศทางการเงินทั้ง 5 ระบบ ดังนี้

               1.  ระบบวางแผนทางการเงิน
                    1.1  ระบบพยากรณ์ทางการเงิน
                    1.2  ระบบงบประมาณเงินสด
                   1.3  ระบบงบประมาณลงทุน

                2.  ระบบจัดการทางการเงิน
               2.1  ระบบจัดหาเงินทุน
               2.2  ระบบจัดการเงินทุน
               2.3  ระบบจัดการเงินลงทุน
               2.4  ระบบจัดการเงินสด


                3.  ระบบประมวลผลธุรกรรมทางการเงิน
               เป็นระบบพื้นฐานของระบบสารสนเทศทางการเงินโดยเฉพาะในส่วนของการรับและจ่ายเงินสดภายในธุรกิจทั้งด้านของการจัดหาสินทรัพย์  การลงทุนและการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ โดยจำเป็นจะต้องใช้ประกอบกับระบบเอกสารและหลักฐานการรับและจ่ายเงิน  โดยธุรกิจอาจจะใช้วิธีการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อควบคุมการคงอยู่ของเงินสดของธุรกิจ  และสามารถใช้เป็นร่องรอยการตรวจสอบที่มาและใช้ไปของกระแสเงินสดภายในธุรกิจได้
                ในส่วนกระบวนการทางธุรกิจของระบบประมวลผลธุรกรรมทางการเงิน  เริ่มจากการรับเข้าข้อมูลรับและจ่ายเงินสดจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยใช้โปรแกรมการเงินประมวลผลธุรกรรมที่เกิดขึ้นของแต่ละวันทำการ  โดยออกเอกสารรวมทั้งรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น  ใบนำฝากเงินนำส่งธนาคารเช็คสั่งจ่ายนำส่งผู้รับเงิน  รายงานเงินสดรับ  รายงานเงินสดจ่าย  และรายงานฐานะของเงินสดของแต่ละวันทำการนำเสนอต่อผู้จัดการการเงิน

               4.  ระบบวิเคราะห์ทางการเงิน
               4.1 การวิเคราะห์ความเสี่ยง
               4.2  การวิเคราะห์กำไร
               4.3  การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
             
               5.  ระบบควบคุมทางการเงิน
               5.1  การควบคุมงบประมาณ
               5.2  การตรวจสอบ
               5.3  การบริหารผลการดำเนินงานทางธุรกิจ

เทคโนโลยีทางการเงิน
1.  โปรแกรมสำเร็จรูปทางการเงิน
     1.1  โปรแกรมสำเร็จรูปด้านจัดการทางการเงิน
     1.2  โปรแกรมสำเร็จรูปด้านงบประมาณ
     1.3  โปรแกรมสำเร็จรูปด้านจัดการค่าใช้จ่ายเดินทางอัตโนมัติ

2.  ระบบประยุกต์ด้านอีคอมเมิร์ซ
     2.1  ระบบการแลกเปลี่ยนหุ้นส่วนกลาง
     2.2  ระบบจัดการสกุลเงินตราต่างประเทศ
     2.3  ระบบหุ้นกู้อิเล็กทรอนิกส์
     2.4  ระบบนำเสนอเช็คคืนอิเล็กทรอนิกส์
     2.5  ระบบนำเสนอใบเรียกเก็บเงิน  และการจ่ายชำระตามใบเรียกเก็บเงินอิเล็กทรอนิกส์

3.  เทคโนโลยีด้านการรับชำระหนี้
     3.1  บัตรเครดิต
     3.2  บัตรเดบิต
     3.3  ตู้ไปรษณีย์เช่าอิเล็กทรอนิกส์
     3.4  เช็คที่ได้รับอนุมัติล่วงหน้า
     3.5  เช็คอิเล็กทรอนิกส์
     3.6  เงินสดอิเล็กทรอนิกส์
     3.7  การโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์
     3.8  ระบบธนาคารศูนย์กลาง

4.  การทำเหมืองข้อมูลทางการเงิน
     4.1  ระบบการเข้าถึงรายงานทางการเงินและเศรษฐกิจ
     4.2  ระบบวิเคราะห์ทางการเงิน
     4.3  ระบบบริหารโซ่คุณค่าทางการเงิน

  ระบบสารสนเทศด้านการเงิน จะเกี่ยวกับสภาพคล่อง (
Liquidity) ในการดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินสดหมุนเวียน ถ้าธุรกิจขาดเงินทุนอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นทั้งโดยตรงและอ้อม โดยที่การจัดการทางการเงินจะมีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. การพยากรณ์ (Forecast)
คือการศึกษาวิเคราะห์ การคาดการณ์ การกำหนดทางเลือก และการวางแผนทางด้าน
การเงินของธุรกิจ เพื่อใช้ทรัพยากรทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนักการเงินสามารถใช้หลักการทางสถิติและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาประยุกต์ การพยากรณ์ทางการเงินจะอาศัย
ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์การ ตลอดจนประสบการณ์ของผู้บริหารในการตัดสินใจ
2. การจัดการด้านการเงิน (Financial Management)
คือการบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รายรับและรายจ่าย การหาแหล่งเงินทุน
จากภายนอก เพื่อที่จะเพิ่มทุนขององค์การ โดยวิธีทางการเงิน เช่น การกู้ยืม การออกหุ้น หรือตราสารทางการเงิน
3. การควบคุมทางการเงิน (Financial Control)
เป็นการติดตามผล ตรวจสอบ และประเมินความเหมาะสมในการดำเนินงานว่าเป็นไป
ตามแผนที่กำหนดหรือไม่ ตลอดจนวางแนวทางแก้ไขหรือปรับปรุงให้การดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจมีประสิทธิภาพ โดยที่การตรวจสอบและการควบคุมทางการเงินของธุรกิจจะจำแนกได้ 2 ประเภท คือ
3.1 การควบคุมภายใน (Internal Control)
3.2 การควบคุมภายนอก (External Control)

         ระบบย่อยและผลที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน 
             ระบบย่อยในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ขึ้นอยู่กับองค์กรและความต้องการขององค์กรนั้น โดยอาจประกอบด้วยระบบภายในและระบบภายนอกที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลทางธุรกิจของบริษัท เช่น ระบบการจัดหา, การใช้, และการควบคุมเงินสด, ระบบเงินทุนและแหล่งการเงินอื่น ๆ และอาจจะประกอบด้วย ระบบย่อยในการหากำไร/ขาดทุน, ระบบบัญชีค่าใช้จ่ายและระบบการตรวจสอบ โดยระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะทำงานประสานกับระบบประมวลผลรายการ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ผู้จัดการด้านการเงินสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ได้แก่ รายงานด้านการเงินต่าง ๆ เช่น รายงานกำไร/ขาดทุน, รายงานระบบค่าใช้จ่าย, รายงานการตรวจสอบภายในและภายนอกและรายงานการใช้และการจัดการเงินทุน เป็นต้น
สรุป  ระบบสารสนเทศทางการเงิน  ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการสนับสนุนหน้าที่งานด้านต่าง ๆ ทางการเงินเช่น  การพยากรณ์และวางแผนทางการเงิน  การจัดหาเงินทุน  การจัดการเงินทุนในส่วนการใช้และการบริหารเงินทุน  รวมทั้งการจัดการเงินลงทุน  โดยจะต้องมีการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินเป็นพื้นฐานข้อมูลของระบบ โดยมีเป้าหมายด้านการสร้างกำไรสูงสุดให้ธุรกิจ  และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสารสนเทศทางการเงินที่ธุรกิจได้รับทั้งในเชิงปฏิบัติการและในเชิงบริหาร  ตลอดจนสารสนเทศที่ได้จากภายนององค์การทั้งจากตลาดการเงินและจากภาครัฐบาล
           ในส่วนกระบวนการทางธุรกิจระบบสารสนเทศทางการเงินประกอบด้วย 5 ระบบหลัก  คือ  ระบบวางแผนทางการเงิน  ระบบจัดการทางการเงิน  ระบบประมวลผลธุรกรรมทางการเงิน  ระบบวิเคราะห์ทางการเงิน  และระบบควบคุมทางการเงิน  ซึ่งการประมวลผลของระบบต่าง ๆ เหล่านี้  จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีทางการเงิน  เช่นโปรแกรมสำเร็จรูปทางการเงิน  ระบบประยุกต์ด้านอีคอมเมิร์ซ  เทคโนโลยีด้านการรับชำระหนี้  การทำเหมืองข้อมูลทางการเงิน  และยังมีการใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเข้าร่วมด้วย  เพื่อช่วยสนับสนุนงานในส่วนการนำเสนอสารสนเทศทางการเงินที่ถูกต้อง  รวดเร็ว  และทันต่อเหตุการณ์

ที่มา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น